สภาวิชาชีพ ยื่นหนังสือถึง สนช. ขอแก้ไขร่าง พรบ.อุดมศึกษา



สมาพันธ์สภาวิชาชีพ ทั้ง 11 สภา ประกอบด้วย แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาทนายความ สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา สภาวิศวกร สภาสถาปนิก สัตวแพทยสภา สภาเทคนิคการแพทย์ สภากายภาพบำบัด และสภาวิชาชีพบัญชี เข้ายื่นหนังสือต่อ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 เพื่อเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ.... และร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา พ.ศ.... ณ สำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อาคารรัฐสภา 1 เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2561

 

 

 

 

  

โดยร่างพระราชบัญญัติทั้ง  2 ฉบับ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพและมาตรฐานทางวิชาชีพทุกวิชาชีพ และกระทบต่อผลประโยชน์ของประชาชน รวมทั้งประเทศชาติ โดยเฉพาะคุณภาพของบัณฑิตที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพ ซึ่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ห้ามมิให้สภาวิชาชีพเข้าไปช่วยในการกำกับดูแลมาตรฐานของหลักสูตร ซึ่งถือเป็นการเขียนกฎหมายที่เป็นการก้าวล่วง พ.ร.บ.ของวิชาชีพต่าง ๆ ที่มีหน้าที่ในการส่งเสริมการศึกษาให้ได้มาตรฐาน เพื่อคุ้มครองประชาชนให้ได้รับบริการจากผู้ประกอบวิชาชีพที่มีคุณภาพ โดยถือเป็นภารกิจหลักร่วมกันกับมหาวิทยาลัย หากไม่มีการกำกับดูแลตั้งแต่ต้นนั้นจะส่งผลกระทบต่อการสอบขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และจะส่งผลให้เกิดการปลอมแปลงหรือลักลอบประกอบวิชาชีพโดยไม่มีใบอนุญาตอย่างผิดกฎหมาย อีกทั้งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ยังส่งผลกระทบต่อข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศ โดยคนต่างชาติจะสามารถเข้ามาประกอบวิชาชีพได้โดยไม่มีการรับรองใบปริญญา ตามหลักปฏิบัติเช่นเดียวกับบุคคลที่มีสัญชาติไทย  

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ได้รับมอบหนังสือและกล่าวว่า ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวยังมาไม่ถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หากมาถึงจะนำข้อเสนอแนะดังกล่าวไปพิจารณาในคณะกรรมาธิการ โดยเฉพาะเรื่องการดูแลมาตรฐานการศึกษาของหลักสูตรรวมทั้งการผลิตบุคคลากรเพื่อให้ได้คุณภาพก่อนออกมาประกอบวิชาชีพต่าง ๆ ในการให้บริการโดยจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนให้มากที่สุด อีกทั้งจะผลักดันให้ตัวแทนของสมาพันธ์สภาวิชาชีพเข้ามามีส่วนร่วมในคณะกรรมาธิการเพื่อร่างกฎหมายดังกล่าวต่อไป