สภาการพยาบาลน้อมถวายพระพรชัยมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา ด้วยความจงรักภักดี



      วันที่ 15 กรกฎาคม 2567 สภาการพยาบาล นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา เหลืองอมรเลิศ พร้อมด้วยคณะกรรมการสภาการพยาบาล ผู้บริหารสภาการพยาบาล และเจ้าหน้าที่สภาการพยาบาล จัดพิธีถวายราชสักการะ อาศิรวาทราชสดุดีเทิดพระเกียรติ ถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2567 ด้วยความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ อย่างหาที่สุดมิได้ โดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะสภานายกพิเศษแห่งสภาการพยาบาล เป็นประธานในพิธี ณ อาคารนครินทรศรี สภาการพยาบาล จังหวัดนนทบุรี

      ในโอกาสเดียวกันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะสภานายกพิเศษแห่งสภาการพยาบาล ได้ร่วมประชุมคณะกรรมการสภาการพยาบาล ครั้งที่ 7/2567 ตามคำเชิญของสภาการพยาบาล เพื่อนำเสนอข้อมูลสถานการณ์การประกอบวิชาชีพของพยาบาลไทย ข้อจำกัดในการปฏิบัติงาน และปัญหาการขาดแคลนพยาบาล พร้อมเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการแก้ปัญหาการขาดแคลนพยาบาล เพื่อสร้างขวัญกำลังใจแก่ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล อันจะส่งผลดีต่อคุณภาพการบริการด้านสุขภาพในระบบสาธารณสุข โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา เหลืองอมรเลิศ นายกสภาการพยาบาล พร้อมด้วย ดร.กฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาล คนที่หนึ่ง นำเสนอข้อมูล และรองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา บุญทอง ประธานที่ปรึกษาประจำสภาการพยาบาล ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วิจิตร ศรีสุพรรณ กรรมการที่ปรึกษาประจำสภาการพยาบาล ร่วมให้ข้อมูลเรื่องการผลิตพยาบาลเพิ่ม ซึ่งในที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนและหารือแนวทางการพัฒนาวิชาชีพพยาบาลอย่างกว้างขวาง

     โดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน สภานายกพิเศษแห่งสภาการพยาบาล ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการร่วมประชุมคณะกรรมการสภาการพยาบาลในครั้งนี้ เพื่อมารับทราบข้อมูลการขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพ และหารือแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการเพิ่มการผลิตพยาบาลวิชาชีพให้รองรับภาระงาน และประเมินว่าต้องเพิ่มการผลิตพยาบาลจาก 12,000 คนต่อปี เป็น 15,000 คนต่อปี รวมทั้งผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยจะนำข้อมูลที่ได้รับจากสภาการพยาบาล นำเรียนนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต่อไป

     สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายที่สภาการพยาบาลเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีทั้งข้อเสนอมาตรการระยะเร่งด่วน และมาตรการระยะสั้น 1-2 ปี โดยมาตรการเร่งด่วนเป็นการเร่งรัดการผลิตเพิ่มและลดการสูญเสียกำลังคนออกจากระบบบริการของกระทรวงสาธารณสุข เสนอให้นำโครงการเพิ่มการผลิตบุคลากรสาขาการพยาบาลศาสตร์ ปีการศึกษา 2566-2570 จำนวน 15,985 คน เข้าขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เพื่อสนับสนุนงบประมาณ 7,033.40 ล้านบาท อีกทั้งเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) นำพยาบาลวิชาชีพที่เกษียณอายุราชการและมีทักษะสูง บรรจุกลับเข้าทำงานเฉพาะด้านอย่างน้อยร้อยละ 20 กำหนดตำแหน่งพนักงานราชการเฉพาะกิจเพื่อจ้างงานพยาบาลที่เกษียณในปีงบประมาณ 2567-2570 ควบคู่ไปกับเร่งบรรจุพยาบาลวิชาชีพเป็นข้าราชการทั้งหมด และเพิ่มอัตราค่าตอบแทนตามภาระงาน รวมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสภาการพยาบาล เพื่อวางแผนการเพิ่ม และพัฒนาอาจารย์พยาบาลในภาพรวมของประเทศ ในระยะเวลา 10 ปี

     ส่วนมาตรการระยะสั้น 1-2 ปี เพื่อธำรงรักษาพยาบาลวิชาชีพไว้ในระบบ และลดภาระงานของพยาบาล เสนอให้ผลักดันให้มีความก้าวหน้า สำหรับผู้ที่มีอายุราชการ ตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ในตำแหน่งชำนาญการพิเศษ ได้ทุกตำแหน่ง และขอให้กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนงบประมาณจ้างงานผู้ช่วยพยาบาลอย่างน้อย 8,000 อัตราต่อปี เพื่อช่วยลดภาระงานของพยาบาลวิชาชีพ รวมถึงสนับสนุนนโยบาย 1 ผู้ช่วยพยาบาลต่อ 1 หมู่บ้าน เพื่อรองรับการดูแลประชาชนในพื้นที่ โดยให้โอกาสผู้มีคุณสมบัติเข้าเรียนผู้ช่วยพยาบาลปีละ 10,000 คน ในระยะเวลา 8 ปี ตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป และเสนอให้ส่งเสริมพัฒนานวัตกรรม ด้านการบริหารบุคคล เพื่อให้หน่วยบริการได้ใช้ประโยชน์ในการส่งพยาบาลเข้ารับการศึกษา หรือเตรียมตำแหน่งรับการโอนย้ายบรรจุเข้ารับราชการใหม่ของพยาบาลวิชาชีพที่มีความชำนาญสูง ในระดับชำนาญการ/ชำนาญการพิเศษ โดยไม่ต้องเริ่มทำงานในระดับปฏิบัติการ ที่สำคัญเสนอให้สร้างแรงจูงใจ และความผูกพันองค์กร และสนับสนุนการศึกษาต่อเนื่องหลังปริญญาที่สอดคล้องกับความต้องการของหน่วยงาน ทั้งนี้ สภาการพยาบาลพร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุข ขับเคลื่อนและผลักดันมาตรการดังกล่าวอย่างเต็มที่

     จากการร่วมประชุมในครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้แสดงวิสัยทัศน์ถึงความเข้าใจในความเสียสละของพยาบาลที่มีภาระงานหนัก รวมถึงข้อจำกัดของวิชาชีพ ที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทั้งในระดับกระทรวง และการขับเคลื่อนในระดับรัฐบาลต่อไป