ผู้แทนสภาการพยาบาลเข้าให้ข้อมูลการขาดแคลนกำลังคนสาขาพยาบาลในระบบบริการสาธารณสุขไทยและข้อเสนอแนะการแก้ไขแก่คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา



เมื่อวันที่ 22 มกราคม ที่ผ่านมา สภาการพยาบาล นำโดย รศ.ดร.ศิริอร สินธุ อุปนายกสภาการพยาบาล คนที่ 1 พร้อมด้วย ดร.กฤษดา แสวงดี กรรมการที่ปรึกษาสภาการพยาบาล ดร.ธีรพร สถิรอังกูร อุปนายกสภาการพยาบาล คนที่ 2 ผศ.อังคณา สริยาภรณ์ เลขาธิการสภาการพยาบาล รศ.ดร.เรณู พุกบุญมี รองเลขาธิการสภาการพยาบาล นางสาวโสรัจจ์ จันทรเสนีย์ รองหัวหน้าสำนักงานเลขาธิการสภาการพยาบาล และนักวิชาการวิชาชีพการพยาบาล เป็นตัวแทนสภาการพยาบาลเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา เพื่อนำเสนอข้อมูลสภาพปัญหาการขาดแคลนกำลังคนสาขาพยาบาลในระบบบริการสาธารณสุขไทยและข้อเสนอการแก้ไข ณ ห้องประชุม หมายเลข 2205 ชั้น 22 อาคารสุขประพฤติ วุฒิสภา

โดยสภาการพยาบาลได้นำเสนอภาพรวมสภาพปัญหาการขาดแคลนกำลังคนพยาบาลและชี้ให้เห็นถึงปัจจัยสำคัญที่ส่งผลที่ส่งผลต่อความสูญเสียพยาบาลจากระบบบริการสุขภาพ ซึ่งได้แก่ 1) การไม่มีตำแหน่งบรรจุเป็นข้าราชการ และการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม 2) ภาระงานที่หนักเกินไป การรับภาระงานแทนบุคลากรอื่น โดยไม่มีกฎหมายรองรับ 3) ค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม 4) ความก้าวหน้าในวิชาชีพน้อย การถูกกีดกันการเข้าสู่ตำแหน่งบริหาร พร้อมทั้งได้ให้ข้อเสนอแนะในการแก้ไขอย่างเป็นระบบ ดังนี้

  1. พิจารณาการบรรจุพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุขเป็นข้าราชการ และพิจารณาเงินเดือนขั้นต่ำที่เหมาะสมในกรณีที่ไม่สามารถบรรจุเป็นข้าราชการได้
  2. กระทรวงการคลังทบทวนค่าตอบแทนเหมาจ่ายรายเดือนตามพื้นที่ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพ
  3. ปรับปรุงระบบค่าตอบแทนให้เป็นธรรมกับภาระงานและความรับผิดชอบ
  4. พิจารณาเรื่องความก้าวหน้าในวิชาชีพ โดยกำหนดให้พยาบาลวิชาชีพเลื่อนไหลเป็นระดับชำนาญการพิเศษ ระดับเชี่ยวชาญได้ทุกตำแหน่ง
  5. เปิดโอกาสให้ทุกวิชาชีพได้รับการพิจารณาเป็นผู้บริหารทุกระดับ โดยพิจารณาจากความรู้ความสามารถ
  6. ส่งเสริมสนับสนุนให้พยาบาลที่ออกไปจากระบบบริการให้กลับเข้าสู่ระบบ เช่น การเปิดคลินิกที่เป็นเครือข่ายกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งครอบคลุมการให้บริการสุขภาพ การเปิดสถานบริการผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ สภาการพยาบาลยังได้เน้นย้ำว่าประเด็นการขาดแคลนพยาบาลไม่ใช่ปัญหาเฉพาะของวิชาชีพเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของระบบสุขภาพและการพัฒนาสุขภาพของประชาชนของประเทศ ผู้กำหนดนโยบายด้านสุขภาพจึงควรให้ความสำคัญกับการกำหนดนโยบาย การลงทุนในการผลิตพัฒนาและธำรงรักษาพยาบาลไว้ในระบบสุขภาพ รวมทั้งการรับพยาบาลใหม่เข้าทำงาน เพื่อให้ประเทศมีกำลังคนพยาบาลที่มีทักษะความสามารถที่เหมาะสมกับความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนในจำนวนที่เพียงพอ รวมทั้งการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งนี้โดยมีแรงจูงใจที่เพียงพอทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้ถูกสุขลักษณะและมีความปลอดภัยในการทำงาน โดยในที่ประชุมได้มีการให้ความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าวอย่างกว้างขวาง และได้เสนอให้สภาการพยาบาลเข้าร่วมทำงานในการจัดทำแผนปฏิรูปประเทศด้านการสาธารณสุข ซึ่งจะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบต่อไป