กระทรวงสาธารณสุขอนุมัติตำแหน่งข้าราชการอัตราตั้งใหม่สำหรับบรรจุพยาบาลวิชาชีพเป็นข้าราชการทั้งหมด



การขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพในประเทศไทย ในปัจจุบันไม่ได้มีสาเหตุจากการผลิตได้ไม่เพียงพอดังในอดีตเมื่อ 30 ปี ที่ผ่านมา แต่เป็นผลจากการที่ไม่สามารถธำรงรักษาผู้ที่มีทักษะและประสบการณ์ไว้ได้ในระบบบริการสุขภาพ ปัญหาการขาดแคลนตำแหน่งข้าราชการเพื่อบรรจุพยาบาลวิชาชีพ ในกระทรวงสาธารณสุข เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พยาบาลลาออก ปัญหานี้เกิดขึ้นตั้งแต่ประเทศไทยประสบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ในปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา อันเป็นผลจากมาตรการจำกัดขนาดกำลังคนภาครัฐของรัฐบาล เช่น การยุบเลิกตำแหน่งเกษียณอายุราชการ การให้แรงจูงใจกรณีเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด และการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรในกรณีปรับตำแหน่งสูงขึ้น ต้องมีตำแหน่งว่างมายุบรวม (หนังสือที่นร 0506/ว182 ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2553) ทำให้กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีหน่วยบริการสุขภาพในสังกัดมากที่สุด และมีการจ้างงานพยาบาลในสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ จึงประสบปัญหาการไหลเข้า-ออกงานของพยาบาลวิชาชีพที่มีประสบการณ์อย่างรุนแรง เนื่องจากได้รับการจ้างงานในตำแหน่งที่ไม่มั่นคง ไม่จูงใจ ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีบุคลากรสายงานพยาบาลวิชาชีพ รวม 119,238 คน จำแนกเป็น ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ 118,560 คน และพยาบาลเทคนิค 678 คน แต่ในจำนวนนี้มีผู้ที่เป็นข้าราชการเพียง 105,631 คนเท่านั้น (ร้อยละ 88.59) และยังคงเหลืออีก 13,607 คน ที่ยังคงได้รับการจ้างเป็นพนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข และเป็นลูกจ้างชั่วคราว ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง และกรมต่าง ๆ

 

สภาการพยาบาล ได้ทำข้อเสนอและข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง และร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงาน กพ. ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการกำหนดเป้าหมาย และนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำคำขออัตราข้าราชการเพิ่มใหม่สำหรับพยาบาลวิชาชีพ เสนอต่อคณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) และมีมติอนุมัติอัตราข้าราชการตั้งใหม่หลายครั้ง สรุปดังนี้

 

 

 

 

มติ คปร.

เป้าหมาย

จำนวน(อัตรา)

31 มีนนาคม 2554

  • เพื่อรองรับการบรรจุนักศึกษาตามโครงการผลิตพยาบาลวิชาชีพเพิ่มเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

1,977

 

  • เพื่อรองรับการบรรจุพยาบาลวิชาชีพที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขจ้างไว้เป็นลูกจ้างชั่วคราวในจังหวัดชายแดนภาคใต้

669

 

  • ใช้ตำแหน่งว่างของสำนักงานปลัดกระทรวงฯ

1,023

 

รวมตำแหน่งขรก. พยาบาลวิชาชีพ สำหรับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

3,669

วันที่ 7 ธันวาคม 2555

  • เพื่อบรรจุพยาบาลวิชาชีพ และบุคลากรสหสาขาวิชาชีพอื่นๆ 22,641 อัตรา โดยให้แบ่งบรรจุ 3 ปี ระหว่างปีงบประมาณ 2555-2557
  • พยาบาลวิชาชีพ ได้รับจัดสรรตำแหน่งบรรจุ 11,707 อัตรา

 

 

 

11,707

ปี 2557

  • บรรจุพยาบาลวิชาชีพสังกัดกรมการแพทย์ ตามแผนยุทธศาสตร์ประเทศ

996

วันที่ 30 มีนาคม 2560

  • เพื่อบรรจุผู้สำเร็จการศึกษาจากโครงการผลิตบุคลากรพยาบาลเพื่อพัฒนาสุขภาพประชาชนในจังหวัดชายแดนตามรอยสมเด็จย่า เพื่อให้มีพยาบาลวิชาชีพปฏิบัติงานประจำ รพสต. ในแนวชายแดน

50 อัตราต่อปี

เป็นระยะเวลา 9 ปีรวม 450 อัตรา

วันที่ 18 พฤษภาคม 2560

  • เพื่อบรรจุพยาบาลวิชาชีพในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข แบ่งบรรจุ 3 ปี

(2560-2562)

8,792

 

  • ใช้ตำแหน่งว่างของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

2,200

 

ซึ่งโดยรวมตำแหน่งข้าราชการตั้งใหม่ระหว่างปี 2554-2562 เพื่อบรรจุพยาบาลวิชาชีพเพิ่มขึ้นรวมทั้งสิ้น 24,291 อัตรา หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 3,036 อัตรา แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการใช้บริการสุขภาพและความเจ็บป่วยที่ซับซ้อนของประชาชน ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด

 

เมื่อเกิดการระบาดอย่างกว้างขวางของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 กระทรวงสาธารณสุข จึงได้จัดทำคำขอตำแหน่งข้าราชการตั้งใหม่เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 จำนวน 45,684 อัตรา โดยแบ่งเป็นการจัดสรรให้บรรจุบุคลากรสายวิชาชีพหลัก ที่กระทรวงสาธารณสุขได้จ้างไว้ด้วยประเภทการจ้างงานอื่น ได้แก่ พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข และลูกจ้างชั่วคราว รวม 24 สายงาน จำนวน 38,105 อัตรา โดยในจำนวนนี้ เป็นพยาบาลวิชาชีพจำนวน 13,607 อัตรา ด้วยเหตุผลที่ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ลงทุนพัฒนาความรู้ทักษะรวมทั้งการฝึกอบรมเฉพาะทางของพยาบาลวิชาชีพกลุ่มนี้ ทั้งด้านการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ ผู้ป่วยหนัก ผู้ป่วยวิกฤต วิสัญญีพยาบาล และสาขาอื่นๆ ซึ่งมีความพร้อมในการปฏิบัติงานในสถานการณ์ในภาวะวิกฤตจากการแพร่ระบาดของโรคนี้ได้ทันที รวมทั้งยังเป็นกำลังหลักในการทำงานเป็นเวรผลัดตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดจนการหมุนเวียนไปปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง แต่การจ้างงานในรูปแบบที่ไม่ใช่ข้าราชการ อาจเป็นปัจจัยผลักให้พยาบาลกลุ่มนี้ลาออก และจะส่งผลเสียหายต่อระบบสุขภาพ ซึ่งต้องเพิ่มขีดความสามารถกำลังคนให้มีจำนวนเพียงพอให้ทันต่อความต้องการของประชาชนในเวลาจำกัด กระทรวงสาธารณสุข จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องขออนุมัติตำแหน่งข้าราชการอัตราตั้งใหม่สำหรับ บรรจุพยาบาลวิชาชีพกลุ่มนี้เป็นข้าราชการทั้งหมด เพื่อสร้างความมั่นคงในระบบบริการสาธารณสุขในสถานการณ์ฉุกเฉิน และยังเป็นการธำรงรักษาบุคลากรที่มีความรู้ ทักษะ มีประสบการณ์และมีความพร้อมในการทำงาน ให้อยู่ในระบบบริการสุขภาพภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลให้มีพยาบาลวิชาชีพเพียงพอต่อการให้บริการประชาชนในอนาคตอีกด้วย

 

ในการขออัตราข้าราชการตั้งใหม่สำหรับบรรจุพยาบาลวิชาชีพครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

  1. ตำแหน่งเพื่อบรรจุพยาบาลวิชาชีพที่มีการจ้างไว้แล้ว ได้แก่ พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข และลูกจ้างชั่วคราว จำนวน 13,607 อัตรา (คิดเป็นร้อยละ35.7 ของตำแหน่งที่ขอตั้งใหม่ทั้งหมด 24 สายงาน) และ

 

  1. ตำแหน่งเพื่อบรรจุพยาบาลวิชาชีพที่จะสำเร็จการศึกษาใหม่ในปีงบประมาณ 2563 จำนวน 3,790 อัตรา โดยกระทรวงสาธารณสุข จะต้องทำการวิเคราะห์ความต้องการ และจัดทำแผนกำลังคนให้สอดคล้องกับแผนปฏิรูปกำลังคนและภารกิจบริการด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข และเสนอต่อคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐต่อไป

 

ทั้งนี้ การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 มีมติให้กำหนดตำแหน่งตั้งใหม่เพื่อบรรจุพยาบาลวิชาชีพ และบุคลากรอื่นๆ อีก 23 สายงาน ที่มีการจ้างงานไว้แล้วเป็น 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 ภายในเดือนพฤษภาคม 2563 จำนวน 25,051 อัตรา

ระยะที่ 2 ภายในเดือนสิงหาคม 2563 จำนวน 5,616 อัตรา

ระยะที่ 3 ภายในเดือนพฤศจิกายน 2563 จำนวน 7,438 อัตรา

ส่วนการจัดทำคำขอกำหนดตำแหน่งตั้งใหม่สำหรับพยาบาลวิชาชีพที่จะสำเร็จการศึกษาและเข้าทำงานใหม่ในปี พ.ศ.2563 นั้น กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งรัดดำเนินการให้เร็วที่สุด

 

นับเป็นข่าวที่น่ายินดียิ่งสำหรับวิชาชีพของเรา ที่กระทรวงสาธารณสุข จะสามารถแก้ปัญหาการจ้างงานพยาบาลวิชาชีพได้ โดยให้มีการบรรจุพยาบาลวิชาชีพเป็นข้าราชการได้ทุกคน ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 เป็นต้นไป ดังนั้น เราทุกคนต้องเตรียมความพร้อมให้ตนเองมีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะบรรจุเป็นข้าราชการ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ “พยาบาลของพระราชา” ให้ดีที่สุด และยึดหลักปฏิบัติของวิชาชีพ “เราจะรักษามาตรฐานการประกอบวิชาชีพในระดับที่ดีที่สุดเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและการพัฒนาสุขภาวะของประชาชน”