สภาการพยาบาล พร้อม 10 องค์กรวิชาชีพการพยาบาล ร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นกับ กระทรวงสาธารณสุข พร้อมยืนยัน หนุนร่าง พรบ.ยา ฉบับใหม่
เมื่อวันที่ 11 กันยายน 61 รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา บุญทอง นายกสภาการพยาบาล เข้าพบ นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ว่าที่เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาคนใหม่ และนายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น โดยมีตัวแทน 10 องค์กรวิชาชีพพยาบาล อทิ สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย, สมาคมผู้บริหารทางการพยาบาล, ชมรมพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทยพยาบาล, ชมรมการพยาบาลวิชาชีพแห่งประเทศไทย, ชมรมพยาบาลโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแห่งประทศไทย (รพ.สต.), ชมรมพยาบาลเวชปฏิบัติ, ชมรมบริหารพยาบาลแห่งประเทศไทย, พยาบาลอาชีวอนามัย, พยาบาลวิสัญญี, ตัวแทนพยาบาลวิชาชีพชั้นสูง และพยาบาลผู้ปฏิบัติงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าร่วมประชุม ณ กระทรวงสาธารณสุข
รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา บุญทอง นายกสภาการพยาบาล พร้อม ตัวแทนจาก 10 องค์กรวิชาชีพพยาบาล ร่วมกันแสดงความคิดเห็น โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา ได้ชี้แจ้งเพื่อทำความเข้าใจกับกระทรวงสาธารณสุขถึงภารกิจในการรักษาโรคเบื้องต้นตามกฎหมายทางวิชาชีพ ซึ่งมีความเห็นว่า พรบ.ฉบับเดิมนั้น ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์จริงที่พยาบาลต้องเจออยู่ตลอดเวลา เช่น ตามสถานที่ห่างไกล หรือตาม รพ.สต ที่ไม่มีแพทย์หรือเภสัชกรประจำ ทำให้ตกเป็นหน้าที่ของพยาบาลที่ประจำอยู่หน้างานในสถานการณ์จริง ที่จะต้องทำหน้าที่ต่าง ๆ เองทั้งหมด ทั้งนี้ หากมีการเปลี่ยนไปใช้ พรบ.ฉบับใหม่ จะทำให้เกิดผลดีต่อประเทศในภาพรวม และมีกฎหมายรองรับเพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ และอยู่ภายใต้การคุ้มครองทางกฎหมาย สภาการพยาบาล จึงขอสนับสนุน พรบ.ฉบับใหม่ โดยเห็นควรให้เพิ่มเติมใน 3 ข้อ คือ
1. มาตรา 22(5) ตามร่าง พรบ.ยา พ.ศ. ... (ก.ค.61) ขอเพิ่มเติมข้อความให้ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ สามารถจ่ายยาสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายของตนได้ตามมาตรฐานวิชาชีพทั้งในสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ทั้งในและนอกสถานพยาบาล
2. เห็นด้วยตามมาตรา 4 ร่าง พรบ.ยา พ.ศ. ... (ก.ค.61) ในการแบ่งประเภทยา เป็น 4 ประเภท โดยเฉพาะยาแผนปัจจุบันซึ่งเป็นยาที่พยาบาลสามารถจ่ายได้
3.ขอให้พยาบาลวิชาชีพสามารถใช้ยาและจ่ายยาในกรณีผู้ป่วยมีภาวะฉุกเฉินที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ทันท่วงที
ภายหลังการประชุมรับความความคิดเห็น นายแพทย์ โอภาส การย์กวินพงศ์ กล่าวว่า ในภาพรวมด้านการพยาบาลเห็นสอดคล้องกันในเนื้อหาร่าง พรบ. ฉบับใหม่ว่ามีประโยชน์กับประเทศ โดยจะนำข้อคิดเห็นในการประชุมวันนี้และข้อเสนอเพิ่มเติมในร่าง พรบ. ฉบับใหม่ ที่ทางสภาการพยาบาล เสนอ ทั้ง 3 ข้อ ไปเสนอต่อผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการร่าง พรบ. ยา หากมีประเด็นใดที่ยังมีข้อเห็นต่าง จะเชิญผู้เกี่ยวข้องมาร่วมหารือเพื่อหาข้อสรุปให้ได้เร็วที่สุด จากนั้นจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และนำเข้าสู่กระบวนการต่อไป