สมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย จัดแถลงข่าว (ร่าง) พรบ. การอุดมศึกษา พ.ศ. ... : ผลกระทบต่อชีวิตและสวัสดิภาพของประชาชนไทย
สมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา สภาวิศวกร สภาสถาปนิก สัตวแพทยสภา สภาเทคนิคการแพทย์ สภากายภาพบำบัด สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกันจัดงานแถลงข่าว เรื่อง (ร่าง) พรบ.การอุดมศึกษา พ.ศ. ... : ผลกระทบต่อชีวิตและสวัสดิภาพของประชาชนไทย โดยมีนายกจากสภาวิชาชีพทั้ง ๑๑ สภาร่วมให้ข้อมูลและแสดงจุดยืนต่อ (ร่าง) พรบ. ฉบับดังกล่าว ซึ่งมีประชาชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจเข้าร่วมงานจำนวนมาก จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๑ ณ ห้องประชุม กรมประชาสัมพันธ์ กรุงเทพฯ
โดยสมาพันธ์สภาวิชาชีพทั้ง ๑๑ สภา มีมติร่วมกันว่า ขอคัดค้าน มาตรา 64, มาตรา 65 มาตรา 66 และมาตรา 48 แห่งร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ........ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและสวัสดิภาพของประชาชนไทย
ซึ่งตาม มาตรา 64,65 และ 66 นั้น ห้ามมิให้สภาวิชาชีพมีอำนาจในการรับรองหรือกำหนดการจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับสภาวิชาชีพของสถาบันอุดมศึกษา และมิให้ออกข้อบังคับหรือหลักเกณฑ์เพื่อจัดระเบียบการประกอบอาชีพ ทำได้เพียงแต่จัดการประเมินความรู้ และทักษะ ในการประกอบวิชาชีพนั้นแก่ผู้สำเร็จการศึกษาเพื่อประกอบอาชีพที่สภาวิชาชีพนั้นควบคุมอยู่ ซึ่งหมายถึงการสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ
จะก่อให้เกิดผลกระทบด้านคุณภาพและมาตรฐานของผู้ประกอบวิชาชีพ คือ จะไม่มีการประกันคุณภาพการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะวิชาชีพที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตของผู้ป่วยได้ เนื่องจากการฝึกปฏิบัติชองนักศึกษากับผู้ป่วยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการศึกษาในภาคปฏิบัติที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อนักศึกษาสำเร็จการศึกษาจากสถาบันแล้ว จะไม่มีหลักประกันว่าจะสามารถสอบวัดความรู้ผ่านเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ ผู้ที่สอบความรู้ไม่ผ่านไม่สามารถประกอบวิชาชีพได้ตามกฎหมาย จะเป็นการสูญเสียทรัพยากรของชาติ ส่งผลให้คุณภาพมาตรฐานของผู้ประกอบวิชาชีพต่ำลง อาจทำให้เกิดการลักลอบประกอบวิชาชีพที่ไม่มีใบอนุญาตแอบแฝงและเกิดการประกอบวิชาชีพอย่างผิดกฎหมายอยู่ตามสถานพยาบาล บ้าน และชุมชนจำนวนมาก ท้ายสุดจะทำให้แผนการพัฒนาบุคลากรด้านการประกอบวิชาชีพที่รัฐบาลวางแผนระดับชาติไว้ล้มเหลว เกิดผลกระทบต่อประชาชน เศรษฐกิจ และสังคมในระยะยาว
และตามมาตรา 48 สถาบันอุดมศึกษามีหน้าที่ในการให้บริการทางวิชาการและวิชาชีพ และให้คำปรึกษาทางวิชาการและวิชาชีพแก่สังคมภายนอกสถาบันอุดมศึกษา โดยนำความรู้จากการจัดการศึกษา การฝึกอบรมทางวิชาการ การผลิตงานวิจัยและการสร้างนวัตกรรม มาดำเนินการดังกล่าว เพื่อพัฒนาสังคมในด้านวิชาการหรือการพัฒนาความรู้ตลอดจนความเข้มแข็งของประเทศชาติและนานาชาติ
สมาพันธ์สภาวิชาชีพฯ ขอคัดค้านบทบัญญัติ มาตรา 48 ด้วยเหตุผลดังนี้ การให้บริการทางวิชาชีพ” และ “ให้คำปรึกษาทางวิชาชีพ” มิใช่ “หน้าที่และอำนาจของสถาบันอุดมศึกษา”ตามบทบัญญัติตามมาตรา 37 (3) และก่อให้เกิดความขัดแย้งในการบังคับใช้กฎหมายเมื่อสถาบันกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายสภาวิชาชีพ
เมื่อสถาบันการศึกษาไปให้บริการหรือคำปรึกษางานทางวิชาชีพที่เข้าข่ายเป็นการทำสัญญารับจ้าง โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ถือเป็นการกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายสภาวิชาชีพนั้นๆ โดยเฉพาะสภาสถาปนิก และสภาวิศวกร เพราะจะมีผลไปขัดแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ที่บัญญัติให้ผู้ให้รับจ้างออกแบบ ควบคุมงานจะต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจากสภาสถาปนิก สภาวิศวกร