เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ.2561 เวลา 17.00 น. ณ ห้องแม่กลอง โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพ ฯ มูลนิธิรางวัลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานมูลนิธิ ฯ กำหนดพิธีพระราชทานรางวัลแก่พยาบาลผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจากทุกประเทศทั่วโลก ว่ามีผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ อันก่อให้เกิดประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ ด้านสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิต ประจำปี 2561โดยพิธีพระราชทานรางวัลจะจัดให้มีขึ้นในวันพุธที่ 17 ตุลาคม พ.ศ.2561 ณ พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ ในพระบรมมหาราชวัง
รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา บุญทอง เลขาธิการมูลนิธิรางวัลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ฯ กล่าวว่า มูลนิธิรางวัลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นพระราชานุสรณ์แห่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ และต่อพสกนิกรชาวไทยทั่วประเทศ คณะกรรมการสภาการพยาบาล ได้พิจารณาเห็นว่า เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติยศสูงสุด และเป็นพระราชานุสรณ์ให้พระเกียรติยศยืนยง และขจรขจายไปยังนานาชาติ จึงเสนอจัดตั้ง รางวัลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และมูลนิธิรางวัลสมเด็จพระศรี นครินทราบรมราชชนนี ฯ ขึ้น และมูลนิธิ ฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ รางวัลที่จัดตั้งขึ้นนี้ ได้จัดให้มีขึ้นปีละ ๑ รางวัลทุกปี โดยพิจารณาให้กับพยาบาลและหรือผดุงครรภ์จากทุกประเทศทั่วโลก ที่มีผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่มวลมนุษย์ในด้านสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิต เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 นับถึงปัจจุบันเป็นเวลา 19 ปี อย่างต่อเนื่อง
รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา บุญทอง ได้กล่าวต่อไปว่า มูลนิธิรางวัลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีฯ ได้พิจารณาตัดสินผู้ที่ได้รับรางวัลประจำปี 2561 คือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. อฟาฟ อิบราฮิม เมลิส (Professor Dr. Afaf Ibrahim MELEIS) อายุ 76 ปี ชาวสหรัฐอเมริกา-อียิปต์ ซึ่งเป็นผู้นำทางการพยาบาลระดับโลกที่มีความโดดเด่นทางด้านการศึกษาพยาบาล การพัฒนาพยาบาลให้เป็นผู้นำในระบบสุขภาพและผู้นำด้านการศึกษา การพัฒนาศาสตร์ทางการพยาบาล และการวิจัย โดยงานวิจัยของท่านมีผลต่อการพัฒนาการปฏิบัติการพยาบาล และการกำหนดนโยบายด้านสุขภาพ โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพของสตรี ประชาชนด้อยโอกาสในสังคม และกลุ่มผู้อพยพ ซึ่งจะเห็นได้จากการที่ท่าน ได้เป็นกรรมการชุดสำคัญในทีมสหวิชาชีพหลายคณะ เช่น กรรมการสุขภาพ กรรมการของ Lancet Advisory Board ในประเด็นสุขภาพของสตรี กรรมการที่ปรึกษาของสถาบันวิจัยสุขภาพแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกาในด้านการวิจัยสุขภาพของสตรี ตลอดชีวิตการทำงาน ดร. เมลิส ได้อุทิศให้กับการรณรงค์ให้บุคคลชายขอบมีสิทธิ์ มีเสียงในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรีในกลุ่มประเทศรายได้น้อย กลุ่มประเทศที่สตรียังไม่ได้รับความเท่าเทียมทางสังคม หรือมีการกีดกันทางเพศในรูปแบบต่าง ๆ มีผลต่อการยกระดับสถานภาพของสตรีเหล่านั้นอย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับประเทศไทย เมื่อคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เป็นแกนนำในการจัดทำโครงการร่วมผลิตบัณฑิตระดับปริญญาเอก สาขาพยาบาลศาสตร์ ระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2531 ดร.เมลิส ได้รับเชิญมาเป็นผู้วิพากษ์หลักสูตร และได้มาทำหน้าที่พัฒนาอาจารย์ผู้สอนในหลักสูตรนี้หลายครั้งด้วยกัน ทำให้การริเริ่มหลักสูตรระดับปริญญาเอก สาขาพยาบาลศาสตร์ของประเทศไทย เป็นไปอย่างมีคุณภาพ ซึ่งนับว่า ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. อฟาฟ อิบราฮิม เมลิส เป็นผู้ที่อุทิศตนเพื่อพัฒนาวิชาชีพการพยาบาล และยกสถานะของสตรีให้เป็นที่ประจักษ์ชัด ซึ่งส่งผลต่อการปรับปรุงสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้หญิงในทุกภูมิภาคทั่วโลก ซึ่งนับได้ว่าเป็นกุญแจสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง