การขอเข้ารับการรับรองสมรรถนะตามมาตรฐานอาชีพของพนักงานให้การดูแล



การขอเข้ารับการรับรองสมรรถนะตามมาตรฐานอาชีพของพนักงานให้การดูแล

คุณสมบัติทั่วไปของผู้มีสิทธิ์เข้ารับการทดสอบสมรรถนะต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้น 

       1. มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์และ 
       2. ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี และไม่มีประวัติการกระทำผิดที่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยและบุคคลรอบข้าง รวมถึงไม่ละเมิดสิทธิผู้ป่วยและ 
       3. มีประสบการณ์ในงานพนักงานให้การดูแล (Nurses’ aides)ไม่น้อยกว่า 1 ปี มีหนังสือรับรองจากสถานพยาบาล ภาครัฐ และเอกชนที่ได้ปฏิบัติงานว่า หรือ 
       4. ได้รับการฝึกอบรมหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ และการดูแลเด็ก จากหน่วยงานภาครัฐ หรือ โรงเรียนที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ ไม่น้อยกว่า 840 ชั่วโมง หรือ 
       5. ได้รับการฝึกอบรมหลักสูตรกลางของพนักงานให้การดูแล ของสภาพยาบาล จากหน่วยงานภาครัฐ

กระบวนการเตรียมการก่อนการประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ

       1. การเตรียมความพร้อมของผู้เข้ารับการประเมิน
ผู้เข้ารับการประเมินจะต้องมีความมั่นใจว่ามีความรู้ ทักษะ และเจตคติ รวมถึงประสบการณ์ในการทำงานที่สอดคล้องกับข้อกำหนดของมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพที่จะขอรับการประเมินและผู้เข้ารับการประเมินจะต้องแสดงความจำนงในการขอรับการประเมินด้วยตนเอง โดยการประเมินสมรรถนะ มีขั้นตอนดังนี้
              1.1 แสดงความจำนงขอรับการประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพในสาขาวิชาชีพอาชีพพนักงานให้การดูแล ชั้น 2  โดยจะต้องกรอกแบบคำขอ ระบุข้อมูลประวัติของผู้เข้ารับการประเมิน และยื่นเอกสารประกอบการยื่นคำขอรับการทดสอบสมรรถนะของบุคคล ตามมาตรฐานอาชีพตามที่กำหนดในแบบคำขอผ่านช่องทางดังต่อไปนี้
                        - ยื่นด้วยตนเองที่ องค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลฯ 
                        - สมัครผ่านเว็บไซต์ขององค์กรรับรองฯ สภาการพยาบาลที่.....
              1.2 ผู้เข้ารับการประเมินชำระค่าธรรมเนียมการทดสอบสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพตามอัตราในประกาศสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เรื่องค่าธรรมเนียมการสมัครการเข้ารับการประเมินสมรรถนะตามมาตรฐานอาชีพและการประเมินสมรรถนะ พ.ศ. 2563
                        - ค่าธรรมเนียมการสมัครสำหรับการประเมินสมรรถนะตามมาตรฐานอาชีพ ในอัตราห้าร้อยบาท
                        - ค่าธรรมเนียมการสมัครสำหรับการประเมินสมรรถนะ ในอัตราสามร้อยบาท
              1.3  ผู้เข้ารับการประเมินเข้ารับการประเมิน ตามวัน เวลา สถานที่ที่กำหนด
              1.4 ผู้เข้ารับการประเมินต้องผ่านการประเมินที่ครอบคลุมในทุกหน่วยสมรรถนะตามที่กำหนดในมาตรฐานอาชีพ   จึงจะผ่านคุณวุฒิวิชาชีพในแต่ละชั้นที่กำหนดในมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ
              1.5 เมื่อผู้เข้ารับการประเมินได้รับผลผ่านการประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ ผู้เข้ารับการประเมินต้องชำระค่าธรรมเนียมการออกใบประกาศคุณวุฒิวิชาชีพและใบรับรองมาตรฐานอาชีพ ตามอัตราในประกาศสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราค่าธรรมเนียมการออก ประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพและค่าทดสอบสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ พ.ศ. 2557 และได้รับประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพและหนังสือรับรองมาตรฐานอาชีพ
              1.6 หากผู้เข้ารับการประเมินได้รับผลไม่ผ่านสมรรถนะ ผู้เข้ารับการประเมินสามารถฝีกฝนพัฒนาตนเองเพื่อขอเข้ารับการประเมินใหม่อีกครั้ง โดยมีระยะเวลา 1 ปี ในการขอเข้าการประเมิน สำหรับหน่วยสมรรถนะที่ยังไม่ผ่าน นับจากวันทราบผลจากวันที่ “ไม่ผ่านสมรรถนะ” อย่างเป็นทางการ

         2. การเตรียมความพร้อมในด้านความรู้และประสบการณ์ของผู้เข้ารับการประเมิน ได้แก่ การดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล ความสุขสบาย สิ่งแวดล้อมของผู้ป่วย การฟื้นฟูร่างกายของผู้ป่วย การช่วยจัดการในภาวะฉุกเฉิน การช่วยดูแลผู้ป่วยถึงแก่กรรม การจัดวัสดุอุปกรณ์การรักษาพยาบาล ทำความสะอาดอุปกรณ์การรักษาพยาบาลชนิดต่าง ๆ การสนับสนุนงานธุรการในหน่วยงาน

กระบวนการและวิธีการประเมินสมรรถนะอาชีพพนักงานให้การดูแล 

         แบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน ได้แก่
         1. ตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้น โดยคุณสมบัติของผู้เข้ารับการประเมินจะต้องสอดคล้องกับมาตรฐานที่กำหนด 
         2. การสอบข้อเขียน ด้วยข้อสอบแบบปรนัย (Multiple choices)4 ตัวเลือก เวลาที่ใช้ในการประเมิน 60 นาที
             เกณฑ์การตัดสิน คือ ผู้เข้ารับการประเมินต้องได้คะแนนรวมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 จึงจะถือว่าสอบผ่านข้อเขียน และมีสิทธิ์สอบทักษะปฏิบัติในขั้นตอนต่อไป 
         3. การสอบทักษะปฏิบัติ โดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งจะพิจารณาเป็นรายหน่วยสมรรถนะเวลาที่ใช้ใน 
การประเมิน 60 นาทีผู้เข้ารับการประเมินจะปฏิบัติกิจกรรม 4 กิจกรรม ๆ ละ 15 นาที 
             เกณฑ์การตัดสิน คือ ผู้เข้ารับการประเมินจะต้องสอบผ่านทุกกิจกรรม โดยแต่ละกิจกรรมผู้เข้ารับการประเมินจะต้องปฏิบัติกิจกรรมย่อย  ให้ผ่านร้อยละ 100 จึงจะถือว่าสอบผ่านทักษะปฏิบัติ และมีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์ในขั้นตอนต่อไป 
         4. การสอบสัมภาษณ์ โดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งจะพิจารณาเป็นรายหน่วยสมรรถนะเวลาที่ใช้ใน 
การประเมิน 45 นาที 
             เกณฑ์การตัดสิน คือ ผู้เข้ารับการประเมินจะต้องสอบสัมภาษณ์ให้ผ่านทุกข้อ โดยแต่ละข้อคำถามผู้เข้ารับการประเมินจะต้องตอบตามแนวคำตอบที่กำหนดไว้จึงจะถือว่าผ่าน