มูลนิธิรางวัลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีฯ จัดงานแถลงข่าวแจ้งผลการตัดสินรางวัลฯ และแจ้งกำหนดพิธีพระราชทานรางวัล พยาบาลดีเด่นระดับโลก



เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2562 รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา บุญทอง รองประธานกรรมการและเลขาธิการมูลนิธิรางวัลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานเปิดการแถลงข่าวผลการตัดสินรางวัลฯ และแจ้งกำหนดพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประจำปี 2562 โดยมี นางสาวบุษฏี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ นางณัฐญา เบี้ยวไข่มุข ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายบริหาร และวางแผนการเดินทางบุคคลสำคัญ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นาย เขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และคุณปัทมา เลิศวิริยะสกุล ผู้อำนวยการ ฝ่ายการสื่อสาร โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องแม่กลอง โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ

รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา บุญทอง กล่าวว่า มูลนิธิรางวัลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีฯ ได้พิจารณาตัดสินผู้ที่ได้รับรางวัลประจำปี 2562 เรียบร้อยแล้ว ในปีนี้ มีผู้ที่ได้สมควรได้รับรางวัลจำนวน 2 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.ซีรารา ซีกาโรนา คูเป้ มอกเว (Professor Dr. Serara Segarona KUPE-MOGWE) อายุ 92 ปี ชาวบอตสวานา และ ศาสตราจารย์เกียรติคุณจุนโกะ คอนโด (Professor Emeritus Junko KONDO) อายุ 88 ปี จากประเทศญี่ปุ่น ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลทั้งสองท่านนี้ มีผลงานด้านการพัฒนาการพยาบาลและการผดุงครรภ์ จนเป็นที่ยอมรับอย่างยิ่งทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ

สำหรับท่านแรก ศาสตราจารย์ ดร. คูเป้ มอกเว อายุ 92 ปี ชาวบอตสวานา เป็นผู้นำในการพัฒนาคุณภาพงานบริการสุขภาพ โดยเฉพาะวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ในประเทศบอตสวานา จากยุคมืดสู่ความเจริญรุ่งเรือง และได้รับยกย่องให้เป็นมิสฟลอเรนซ์ ไนติงเกล และสัญลักษณ์ของการพยาบาลสมัยใหม่ทั้งในบอตสวานาและภูมิภาคแอฟริกาใต้ อีกทั้งยังได้ก่อตั้งสมาคมพยาบาลแห่งบอตสวานา ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นสหภาพพยาบาลแห่งบอตสวานา สหภาพแห่งนี้ได้เป็นสมาชิกของสมาคมและองค์กรทั้งในระดับภูมิภาคตะวันออกกลางและใต้ของแอฟริกา รวมทั้งสภาการพยาบาลระหว่างประเทศ และยังร่วมก่อตั้งองค์กรต่างๆ ทางด้านการพยาบาลและการผดุงครรภ์ในประเทศต่างๆ ได้แก่ มาลาวี ซิมบับเว และแอฟริกาใต้

ด้วยความมุ่งมั่นของท่านได้ก่อตั้ง สถาบันการศึกษาอบรมกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อฝึกอบรม เจ้าหน้าที่สหวิชาชีพสุขภาพ รวมทั้งพยาบาลขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศ และได้ประสาน องค์กรอนามัยโลก (WHO) ปรับปรุงหลักสูตรให้ครอบคลุม เรื่อง มารดา ทารก และการผดุงครรภ์ จนสามารถลดอัตราการตายของมารดาและทารก ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพสำคัญของบอตสวานาลงได้ จากการผลักดัน ของ ดร.ครูเป้ มอกเว จนได้ยกระดับการศึกษาพยาบาล โดยก่อตั้งหลักสูตรปริญญาตรีด้านการพยาบาลศาสตร์ ขึ้นเป็นหลักสูตรแรกสำหรับสตรีผิวดำแห่งแรกในภูมิภาคแอฟริกาใต้ ท่านได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ซึ่งเป็นสตรีผิวดำคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้

ศาสตราจารย์ ดร.ซีรารา ซีกาโรนา คูเป้ มอกเว เป็นผู้ที่อุทิศตนให้กับการพัฒนาการบริการสุขภาพ เพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศบอตสวานา และประเทศแอฟริกาใต้ โดยการพัฒนาวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ซึ่งเป็นการยกสถานะของสตรีอีกด้วย

ท่านที่สอง คือ ศาสตราจารย์จุนโกะ คอนโด ชาวญี่ปุ่น อายุ 88 ปี เป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และความทุ่มเทในการพัฒนาคุณภาพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ของประเทศญี่ปุ่นและผลักดันให้เกิดการพัฒนาการศึกษาพยาบาลในประเทศอียิปต์ และประเทศในทวีปแอฟริกา ด้วยวิสัยทัศน์ที่ต้องการยกระดับการศึกษาของพยาบาล ท่านผลักดันให้เกิดหลักสูตรสาขาพยาบาลศาสตร์ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ริเริ่มก่อตั้งสถาบันวิชาการพยาบาลศาสตร์และสมาคมการศึกษาพยาบาลในมหาวิทยาลัยและได้ร่วมกับหน่วยงานความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นและนานาชาติ (Japan International Cooperation Agency-JICA) ในการพัฒนาการศึกษาพยาบาลในประเทศอียิปต์และพัฒนาครูพยาบาลและผู้นำทางการพยาบาลสำหรับประเทศในแอฟริกาและปารากวัย

จากการที่ท่านเป็นครูสอนวิชาผดุงครรภ์ท่านได้ก่อตั้งสถาบันวิชาการสาขาการผดุงครรภ์ของประเทศญี่ปุ่นและร่วมก่อตั้งสมาคมผดุงครรภ์ อีกทั้งยังเป็นนายกสมาคมผดุงครรภ์คนแรกของประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย ท่านได้ผลักดันให้มีการกำหนดบทบาทและสมรรถนะการผดุงครรภ์ รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพการดูแลมารดาและทารกแรกเกิดนอกจากนี้ท่านได้ก่อตั้งสถาบันการประเมินการผดุงครรภ์ของประเทศญี่ปุ่นเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาผดุงครรภ์

ศาสตราจารย์เกียรติคุณจุนโกะ คอนโด ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาพยาบาลและผดุงครรภ์เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพบริการและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

ผลงานที่สำคัญของทั้งสองท่าน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสุขภาพของประชาชนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะสตรีและเด็กแรกเกิด นำไปสู่การพัฒนาการบริการและคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศและนานาชาติอย่างเข้มแข็ง และมีประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับในสากล โดยกำหนดจัดพิธีพระราชทานรางวัลฯ ในวันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม 2562 นี้