สภาวิชาชีพ ร่วมยื่นหนังสือเสนอความเห็นข้อเสนอแนะร่าง พ.ร.บ. อุดมศึกษา พ.ศ... ต่อผู้อำนวยการส่วนประสานงานมวลชนฯ เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี



สภาวิชาชีพ ร่วมยื่นหนังสือเสนอความเห็นข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. อุดมศึกษา พ.ศ... และร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา พ.ศ....ต่อผู้อำนวยการส่วนประสานงานมวลชนและองค์กรประชาชน เพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี

           เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม 1111 ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล  สมาพันธ์สภาวิชาชีพ ทั้ง 11 สภา ประกอบด้วย แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาทนายความ สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา สภาวิศวกร สภาสถาปนิก สัตวแพทยสภา สภาเทคนิคการแพทย์ สภากายภาพบำบัด และสภาวิชาชีพบัญชี เข้าพบ นายพันศักดิ์ เจริญ ผู้อำนวยการส่วนประสานงานมวลชนและองค์กรประชาชน เพื่อร่วมมอบหนังสือขอนำเสนอความเห็นข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ...และร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา พ.ศ... ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อวิชาชีพและประชาชน เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป

  

 

          รองศาสตราจารย์ ดร.เรณู พุกบุญมี รองเลขาธิการสภาการพยาบาล ผู้แทนนายกสภาการพยาบาล ร่วมกับ 11 สภาวิชาชีพเข้ามอบหนังสือ ขอนำเสนอข้อเสนอแนะเพื่อขอแก้ไขร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. และเสนอขอแก้ไขร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริการราชการกระทรวงการอุดมศึกษา พ.ศ.... ตามที่ สมาพันธ์วิชาชีพทั้ง 11 สภา ได้เคยทำหนังสือเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเพื่อเสนอความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว และเฝ้าติดตามผลการพิจารณามาโดยตลอด อีกทั้งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ.... ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา พ.ศ...และร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่..) พ.ศ... โดยสมาพันธ์สภาวิชาชีพในฐานะที่เป็นองค์กรวิชาชีพที่มีความเกี่ยวข้องกับการศึกษาของชาติ โดยเฉพาะบัณฑิตที่จบการศึกษาและเข้ามาเป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพ ต่างรู้สึกเป็นกังวลต่อการบริหารการศึกษาในชั้นอุดมศึกษาตามร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ในหลายประเด็น ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ และอำนาจหน้าที่ของบุคลากรและองค์กรที่จะเกิดขึ้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อวิชาชีพและภาคประชาชน ทางสมาพันธ์วิชาชีพจึงมีความจำเป็นที่จะต้องขออนุญาตนำส่งความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหารการศึกษาในส่วนของการอุดมศึกษา เพื่อประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม