นายกสภาการพยาบาล และคณะ เข้าร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 75 (WHA75)



         รองศาสตราจารย์ ดร. สุจิตรา เหลืองอมรเลิศ นายกสภาการพยาบาล พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ภัทราภรณ์ ภทรสกุล กรรมการสภาการพยาบาล เข้าร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 75 (WHA75) ระหว่างวันที่ 22-28 พฤษภาคม 2565 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร. ศิริอร สินธุ นายกสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ รองศาสตราจารย์ ดร. สุปรีดา มั่นคง กรรมการอำนวยการสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ ในฐานะผู้นำองค์กรวิชาชีพการพยาบาล ร่วมกับคณะผู้แทนประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรสมาชิกสมัชชาอนามัยโลก เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย

         การประชุมครั้งนี้ สภาการพยาบาล ร่วมกับสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ กองการพยาบาล และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ได้รับผิดชอบ สามหัวข้อได้แก่ 1) วาระกำลังคนทางสุขภาพ (human resource for health) 2) วาระการปรับปรุงระเบียบข้อบังคับของเจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลก (staffing matters) และ 3) วาระรายงานผลการประเมินองค์การอนามัยโลกโดยทีมภายในและภายนอก (Audit and oversight matters) 

          ในการนี้ สภาการพยาบาล ได้เป็นตัวแทนในการนำเสนอท่าทีของประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (WHO, South-East Asia Region) ในวาระกำลังคนด้านสุขภาพ (Human resource for health) โดยได้มีการประชุมร่วมกันในทีมและระหว่างตัวแทนจาก 11 ประเทศในภูมิภาคหลายครั้งทั้งก่อนและระหว่างการประชุม เพื่อให้ได้ข้อคิดเห็นที่เป็นหนึ่งเดียวของภูมิภาค (regional one voice) ก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกในวันที่ 26 พ.ค. 2565 และได้รับการรับรองจากที่ประชุมอย่างเป็นเอกฉันท์  โดยมีข้อเสนอให้ WHO และประเทศสมาชิกเร่งดำเนินการใน 3 ประเด็นเพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิของกำลังคนด้านสุขภาพ ในระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 และระยะฟื้นฟู ดังนี้

         1) เร่งการดำเนินงานตามกลยุทธ์โลกด้านกำลังคนทางสุขภาพปี 2030 โดยเพิ่มการลงทุนด้านการศึกษา การอบรมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บุคลากรมีศักยภาพในการให้บริการทางสุขภาพที่มีคุณภาพ มีการจ้างงาน การกระจายกำลังคนและการคงไว้อย่างเหมาะสม เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นด้านคุณภาพการให้บริการในระดับปฐมภูมิ และในภาวะฉุกเฉิน หรือช่วงการระบาดของโรคอุบัติใหม่

         2) ให้แต่ละประเทศนำหลักปฏิบัติขององค์การอนามัยโลกในการสรรหาบุคลากรทำงานต่างประเทศอย่างเป็นธรรม (WHO global code of practice of international recruitment personnel) รวมถึงการนำแนวทางการดูแลปกป้องบุคลากรและผู้ดูแลด้านสุขภาพ (Global health and care worker compact) มาใช้เพื่อปกป้องสิทธิและส่งเสริมการทำงานที่ปลอดภัย สิ่งแวดล้อมที่ดีในการทำงาน การได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมและเป็นธรรม การคำนึงถึงความเหมาะสมทางเพศสภาวะเพื่อเพิ่มการคงไว้ของกำลังคนในระบบ ทั้งนี้เนื่องจากร้อยละ 70 ของบุคลากรและผู้ดูแลทางสุขภาพเป็นเพศหญิงและส่วนใหญ่เป็นพยาบาล

         3) มีการติดตามข้อมูลด้านต่าง ๆ ของกำลังคนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ข้อมูลกำลังคนด้านสุขภาพระดับชาติ เพื่อเป็นข้อมูลที่สำคัญในการกำหนดนโยบายและวางแผนกำลังคนให้มีจำนวนเพียงพอและเหมาะสม โดยประเทศสมาชิกควรมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในด้านการพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพ เพื่อให้การบริการสุขภาพในระดับปฐมภูมิและในภาวะฉุกเฉินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อบรรลุเป้าหมายการมีสุขภาพถ้วนหน้าในปี พ.ศ. 2573

         ในโอกาสนี้ นายกสภาการพยาบาลและคณะ ยังได้เข้าประชุมร่วมกับ Mr. Howard Catton หัวหน้าบริหารสภาพยาบาลระหว่างประเทศ (ICN) ณ สำนักงานใหญ่สภาพยาบาลระหว่างประเทศ กรุงเจนีวา เพื่อหารือเกี่ยวกับการทำงานร่วมกันระหว่าง ICN และองค์กรวิชาชีพไทย และพบกับ Mrs. Elizabeth Iro หัวหน้าพยาบาลขององค์การอนามัยโลกเพื่อหารือในประเด็นการทำงานร่วมกันต่อไปในอนาคตหมายเหตุ เนื้อหาข่าวโดยคณะกรรมการประชาสัมพันธ์