สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานรางวัลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประจำปี 2561



           เมื่อวันพุธที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๑) เวลา ๑๖.๐๐ น. ณ พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ ในพระบรมมหาราชวัง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จพระศรีนครินทรา

บรมราชชนนี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทรงพระราชทานรางวัลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี แก่พยาบาลดีเด่นผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ผู้ที่ได้รับรางวัล เป็นพยาบาลจากสหรัฐอเมริกา หลังจากพิธีพระราชทานรางวัล ทรงพระราชทานเลี้ยงน้ำชาเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ที่ได้รับรางวัล โดยมีคณะรัฐมนตรีและทูตานุฑูตจากประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมงาน

รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา บุญทอง เลขาธิการมูลนิธิรางวัลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีฯ กล่าวว่า มูลนิธิรางวัลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติยศสูงสุด และเป็นพระราชานุสรณ์แห่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี รางวัลนี้ ได้จัดให้มีขึ้นปีละ ๑ รางวัลทุกปี เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๓ นับถึงปัจจุบันเป็นเวลา ๑๙ ปี อย่างต่อเนื่อง โดยพิจารณาคัดเลือกพยาบาลและ/หรือผดุงครรภ์จากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ที่มีผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่มวลมนุษย์ในด้านสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิต

รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา บุญทอง กล่าวต่อไปว่า คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จพระศรีนครินทรา

บรมราชชนนีฯ ได้พิจารณาตัดสินผู้ที่ได้รับรางวัลพยาบาลดีเด่นระดับโลกประจำปี ๒๕๖๑ คือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อฟาฟ อิบราฮิม เมลิส (Professor Dr. Afaf Ibrahim MELEIS) จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้นำวิชาชีพการพยาบาลระดับโลก มีผลงานโดดเด่นทั้งทางด้านการศึกษาวิชาการพยาบาล การวิจัย และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสตรี รวมทั้งผู้ด้อยโอกาส ท่านเป็นผู้ริเริ่มการศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตรดุษฏีบัณฑิต เพื่อสร้างองค์ความรู้ในการพัฒนาคุณภาพงานบริการพยาบาลในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหลักสูตรต้นแบบของการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาพยาบาลศาสตร์ทั่วโลก ท่านได้เป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอนในระดับปริญญาเอกให้กับคณะพยาบาลศาสตร์ต่าง ๆ ทั่วโลก ถึง ๑๖ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ผลงานวิจัยของท่านมีผลต่อการพัฒนางานบริการพยาบาล และการกำหนดนโยบายด้านสุขภาพ โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพสตรี ประชาชนผู้ด้อยโอกาสในสังคมและกลุ่มผู้อพยพ อีกทั้งท่านได้ทำหน้าที่ในกรรมการชุดสำคัญให้ทีมสหวิชาชีพสุขภาพหลายคณะ เช่น กรรมการของ Lancet Advisory Board กรรมการที่ปรึกษาของสถาบันวิจัยสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาในด้านการวิจัยสุขภาพสตรี ดร.เมลิส ได้อุทิศ

ในการรณรงค์ให้บุคคลชายขอบมีสิทธิมีเสียงในสังคม โดยเฉพาะกลุ่มสตรีในประเทศรายได้น้อย กลุ่มประเทศที่สตรีไม่ได้รับความเท่าเทียมทางสังคม หรือได้รับการกีดกันทางเพศรูปแบบต่าง ๆ การรณรงค์ของท่านมีผลต่อการยกระดับสถานภาพของสตรีเหล่านั้นอย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับประเทศไทย เมื่อคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เป็นแกนนำในการจัดทำโครงการร่วมผลิตบัณฑิตระดับปริญญาเอก สาขาพยาบาลศาสตร์ ระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ดร.เมลิส ได้รับเชิญมาเป็นผู้วิพากษ์หลักสูตร และได้มาทำหน้าที่พัฒนาอาจารย์ผู้สอนในหลักสูตรนี้หลายครั้งด้วยกัน ทำให้การริเริ่มหลักสูตรระดับปริญญาเอก สาขาพยาบาลศาสตร์ของประเทศไทย เป็นไปอย่างมีคุณภาพ ซึ่งนับว่า ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อฟาฟ อิบราฮิม เมลิส เป็นผู้ที่อุทิศตนเพื่อพัฒนาวิชาชีพการพยาบาล และยกสถานะของสตรีให้เป็นที่ประจักษ์ชัด ส่งผลต่อการปรับปรุงสุขภาพและคุณภาพชีวิตของสตรีในทุกภูมิภาคทั่วโลก และเป็นกุญแจสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง