สภาการพยาบาลและมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ การจัดการเรียนการสอนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต



เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ที่ผ่านมา ดร.ธีรพร สถิรอังกูร อุปนายกสภาการพยาบาลคนที่ 2 เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การจัดการเรียนการสอนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต” ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างสภาการพยาบาลและมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้เรื่องการจัดการศึกษาเพื่อให้บัณฑิตปฏิบัติภารกิจในความรับผิดชอบได้ด้วยตนเองอย่างถูกต้องและปลอดภัย (Entrustable Professional Activities : EPA) พร้อมทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้บริหารหรือผู้รับผิดชอบในการจัดการเรียนการสอนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนที่ทันสมัย มีความชัดเจนในสาระจำเป็นที่ต้องใช้สอนทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ มีสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสม และมีการวัดประเมินสมรรถนะบัณฑิตได้ตามเกณฑ์มาตรฐานสากลและมาตรฐานวิชาชีพ เพื่อผลิตบัณฑิตพยาบาลให้มีความรู้ มีทัศนคติที่ดี มีทักษะที่ถูกต้อง และปฏิบัติการพยาบาลได้ด้วยตนเองอย่างถูกต้องและปลอดภัย สำหรับการสนับสนุน ส่งเสริม และปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไป ณ ห้องประชุมราชนครินทร์ ชั้น 4  สภาการพยาบาล          
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสถาบันร่วมบรรยายและแลกเปลี่ยนความรู้ อาทิ พญ.ศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย บรรยายเรื่อง “บทบาทมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยร่วมกับสภาวิชาชีพในการสนับสนุน ส่งเสริม และปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่” รศ.นพ.อานุภาพ เลขะกุล บรรยายเรื่อง “การเรียนการสอนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่: Competency VS. Entrustable Professional Activity (EPA) พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช บรรยายเรื่อง “สื่อตัวอย่างการจัดการเรียนการสอนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่” โดยมี ผศ.ดร.สุนทราวดี เธียรพิเชฐ ผศ.ดร.จริยา วิทยะศุภร และ รศ.กรรณิการ์ วิจิตรสุคนธ์ นำเสนอแนวทางการจัดการการสอนการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต ชี้แจงการวิพากษ์ และร่วมดำเนินการวิพากษ์แนวทางการจัดการการสอนดังกล่าว ร่วมกับผู้บริหารและอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรจากสถาบันการศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เหล่าทัพ สถาบันการศึกษาสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก และสถาบันเอกชน เพื่อนำผลการวิพากษ์ที่ได้ไปพัฒนาแนวทางการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมต่อไป