ปี พ.ศ.2562 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีนโยบายในการผลักดันให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างทั่วถึง เท่าเทียม มีคุณภาพ และสะดวก ไม่ต้องเดินทางไกล จึงได้พยายามหาวิธีจัดบริการรูปแบบใหม่เพื่อให้ประชาชนสามารถรับบริการได้ในชุมชนโดยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ซึ่งนอกจากทำให้ประชาชนสะดวกขึ้นและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางแล้ว ยังช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลอีกด้วย เช่น โครงการให้ผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาต่อเนื่องไปรับยาจากร้านยาในชุมชนซึ่งมีเภสัชกรประจำการกำหนดให้ร้านยาซึ่งมีเภสัชกรทางานประจำวันละไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง ขึ้นทะเบียนเป็นเครือข่ายหน่วยบริการร่วมให้บริการของสานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำหน้าที่บริการในการให้คำปรึกษาด้านยาแก่ผู้ป่วยหัวใจ เบาหวาน เป็นต้น
รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา บุญทอง นายกสภาการพยาบาลและในฐานะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในขณะนั้น ได้พิจารณาเห็นว่าผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลเป็นบุคลากรกลุ่มใหญ่ในระบบสาธารณสุขและกระจายอยู่ในชุมชนทุกระดับของประเทศ น่าจะได้มีส่วนในการแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลได้มากเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะบริการต่าง ๆ ตามขอบเขตของวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ซึ่งจะตอบสนองความต้องการของประชาชนได้โดยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล จึงเสนอให้คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ที่เปิดให้บริการอยู่แล้วทั่วประเทศจำนวนกว่า 5,000 แห่ง ซึ่งมีศักยภาพเพียงพอที่จะให้บริการสุขภาพในระดับปฐมภูมิอย่างมีประสิทธิภาพ เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามข้อบังคับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วย หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข การขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการ พ.ศ. 2558 เพื่อเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ เข้าถึงบริการสุขภาพใกล้บ้านได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และทั่วถึง โดยในรปีงบประมาณ 2563 ได้ดำเนินการนำร่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมือง พ.ศ. 2561 – 2570 ต่อมาจึงขยายไปในทุกเขตสุขภาพ
เมื่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เห็นชอบตามหลักการที่ รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา บุญทอง เสนอแล้ว สภาการพยาบาลวางแผนการดำเนินงานโดยกำหนดเป็นโครงการพัฒนารูปแบบคลินิก การพยาบาลและการผดุงครรภ์เป็นหน่วยบริการร่วมให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นชุดหนึ่งโดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัลลา ตันตโยทัย อาจารย์ลัดดาวัลย์ ไวยสุระสิงห์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เวหา เกษมสุข และท่านอื่น ๆ เพื่อทำงานในโครงการพัฒนารูปแบบคลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ดังกล่าว โดยได้ประชุมร่วมกับผู้แทนของ สปสช. เพื่อการกำหนดหลักการ วิธีการ มาตรฐานของคลินิก ขอบเขตการให้บริการของคลินิก ฯลฯ รวมทั้งกำหนดให้คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการของสานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า “คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น”
คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น ต่างจาก คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ที่ไม่ได้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายหน่วยร่วมบริการของ สปสช. อย่างไร
คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น เป็นคลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นสถานพยาบาลตามกฎหมายสถานพยาบาล และผ่านการประเมินมาตรฐานจากสภาการพยาบาลและ สปสช. แล้ว ตามเกณฑ์ที่กำหนด และได้ทำสัญญาขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการของสปสช. สามารถให้บริการสุขภาพตามกฎหมายการประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ โดยที่การให้บริการสุขภาพโดยเฉพาะในขอบเขตและกิจกรรมที่ สปสช. กำหนดไว้สำหรับผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (UC) คือ ผู้ป่วยบัตรทอง ซึ่งรับบริการที่คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น คลินิกพยาบาลที่ให้บริการไม่ต้องเก็บค่าบริการจากประชาชนผู้มารับบริการ แต่สามารถเรียกเก็บจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติโดยตรง สำหรับอัตราค่าบริการในแต่ละกิจกรรมบริการเป็นไปตามที่ สปสช. ประกาศกำหนดไว้แล้ว
นอกจากนี้สภาการพยาบาลได้จัดการอบรมฟื้นฟูทักษะการให้บริการของผู้ดำเนินการคลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ให้บริการมีความรู้และทักษะในการให้บริการอย่างเพียงพอ สามารถให้บริการได้อย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน และยังมีการติดตาม กำกับ และประเมินผล ตลอดจนสนับสนุนการทำงานของคลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่นอย่างต่อเนื่อง